ประวัติพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน

ประวัติของพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์

พ่อท่านคล้ายหรือพระครูพิศิษฐ์อรรถการ เดิมชื่อคล้าย สีนิล บิดาชื่ออินทร์ มารดาชื่อเนี้ยว เกิดที่บ้านทุ่งหราด ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีจอ ใน พ.ศ.๒๔๑๗ ตรงกับรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว) แห่งราชวงศ์จักรี

เมื่อยังเยาว์ พ่อท่านคล้ายได้ศึกษาอักษรสมัย ทั้งไทยและขอม เก่งวิชาเลข มีนิสัยอ่อนโยน พูดจาไพเราะ เหตุการณ์สำคัญในชีวิตเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ที่ไปช่วยญาติตัดต้นไม้ถางป่าทางไร่ที่จังหวัดกระบี่บังเอิญในครั้งนั้นท่านได้ถูกต้นไม้ที่ญาติของท่านตัดโค่นลงมาล้มทับเท้าจนทำให้กระดูกแตกละเอียดและท่านได้แสดงถึงความเด็ดเดี่ยวและใช้มีดปาดตาลตัดช่วงเท้านั้นออก

ขณะที่ข้อมูลที่เป็นเรื่องเล่าของคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับเหตุต้นไม้ทับเท้าจนกระดูกแตกของพ่อท่านคล้ายนั้น ได้เล่าไว้ว่า ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเท้าของท่านไม่สามารถรักษาได้และท่านได้แสดงถึงความมานะอดทนได้ขี่ควายในขณะที่ได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัสกลับมารักษาตัวที่บ้านจันดี ถึงจะเป็นเรื่องเล่าเรื่องใดก็ตามแต่ผลสุดท้ายพ่อท่านคล้ายก็ต้องเสียเท้าข้างซ้ายไป และนั่นจึงทำให้ท่านต้องใส่ปลอกเท้าไม้ไผ่มาตลอดชีวิตของท่าน วิธีการที่ท่านจะทำปลอกเท้าใส่นั้นท่านก็จะสั่งให้ลูกศิษย์ ของท่านไปหาไม้ไผ่ ซึ่งมีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นต้นที่หันลำไผ่ ไปยังทิศตะวันออก จากนั้นท่านก็จะมาทำขั้นตอนในการทำให้เป็นปลอกเท้าของท่านเอง

พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์

เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๖ ปี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดจันดี (วัดทุ่งปอน) ต.หลักช้าง บรรพชาโดยอาจารย์ พระอธิการจัน เจ้าอาวาส ณ ขณะนั้น เป็นเวลา ๒ ปีต่อมาเมื่ออายุประมาณ ๒๐ ปี ได้เข้าอุปสมบท ณ อุทกสีมา วัดวังม่วง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับฉายาว่า “จันทสุวัณโณ” โดยมี พระครูกราย คงคสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูง เป็นพระอุปัชฌาย์ และอยู่จำพรรษาที่วัดจันดี ในระหว่างนี้พ่อท่านคล้ายได้ศึกษาพระอภิธรรม วิปัสสนา และบาลีจากสำนักต่างๆ

ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ พ่อท่านคล้าย ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี เรียนมูลกัจจายนะ ในสำนักพระครูกาแก้ว (ศรี) ณ วัดหน้าพระธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จบหลักสูตรมูล พอแปลบาลีได้ศึกษาอยู่เป็นเวลา ๒ พรรษา

ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ต่อมาได้ศึกษาทางวิปัสสนากัมมัฏฐานที่สำนักวัดสามพัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีอาจารย์หนูเจ้าอาวาสเป็นผู้สอน

ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พ่อท่านคล้าย ได้กลับมาอยู่จำพรรษาวัดหาดสูง ใกล้ตลาดทานพอ ในสำนักพระครูกราย ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพ่อท่าน เพื่อศึกษาวิปัสสนาและไสยศาสตร์ โดยเหตุที่พระครูกราย เป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาและทรงวิชาคุณทางไสยศาสตร์ในสมัยนั้น

ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พ่อท่านคล้าย ได้ไปจำพรรษาที่วัดมะขามเฒ่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาเพื่อศึกษาบาลีและพระอภิธรรมเพิ่มเติม

ปี พ.ศ. ๒๔๔๘  พ่อท่านคล้ายกลับจากวัดมะขามเฒ่า มาจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งปอน (จันดี) ตลอดเวลาที่ท่านจำพรรษา ณ ที่ใดก็ตาม ท่านได้ศึกษาค้นคว้าภาษา บาลี วิชาโหราศาสตร์ และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ติดต่อกันมาโดยมิได้ประมาท ด้านการก่อสร้างก็ได้สร้างไว้วัดและปูชนียวัตถุตามวัดต่าง ๆ ไว้มากมาย

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน อำเภอฉวาง และใน พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านได้รับ พระราชสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร พัดพิเศษ จ.ป.ร. และต่อมา พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นพิเศษฝ่ายวิปัสสนา และในปีเดียวกันนั้น ท่านยังได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อย เนื่องจากมีการสร้างถนนผ่านกลางวัดจันดี ทำให้วัดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ประชาชนได้ประชุมตกลงกันสร้างวัดใหม่ในเนื้อที่ที่แยกออกไป เรียกว่า “วัดธาตุน้อย” โดยพ่อท่านคล้ายได้มาเป็นเจ้าอาวาส และพัฒนาวัดให้เจริญงอกงามสืบต่อมา

พ่อท่านคล้ายได้ถึงแก่กาลมรณภาพเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๓ สิริรวมอายุ ๙๖ ปี พรรษา ๗๕ โดยช่วงเวลายาวนานที่ท่านได้อยู่ในร่มกาสาวพัตร์นั้น ท่านได้บำเพ็ญสาธารณกุศลและสาธารณะประโยชน์มากมายคือ สร้างเจดีย์ สถูป และมณฑปรวม ๑๑ องค์ สร้างโบสถ์และบูรณะโบสถ์ ๑๔ หลัง สร้างถนนรวม ๙ สาย สร้างสะพาน ๑๕ แห่งสร้างวัด ๓ วัด และบูรณะวัดต่างๆ อีกหลายวัด สร้างโรงเรียน สำนักศึกษา วิหาร หอไตร ศาลา กุฏิ บ่อน้ำ สระน้ำอีกมากมาย และช่วงบั้นปลายชีวิตของพ่อท่านคล้ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านได้วางศิลาฤกษ์สร้างพระเจดีย์วัดธาตุน้อยเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้จากกว๊านพะเยาเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นที่กราบไหว้บูชาของชาวนครศรีธรรมราช ท่านได้พัฒนาหลายสิ่งหลายอย่างในท้องถิ่นให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข จนชาวนครฯ ต่างขนานนามท่านว่า “เทวดาเมืองคอน”

สิ่งปลูกสร้างสาธารณะ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน จัดได้ว่าเป็นนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่มาตลอดชีวิต ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ท่านได้เดินทางไปพัฒนาในที่ต่าง ๆ สร้างถนนสร้างสะพานไว้มากมาย ด้วยเมตตาบารมีและความเคารพศรัทธาของศิษย์และประชาชน เช่น

สร้างถนนเข้าวัดจันดี
ถนนจากตำบลละอายไปพิปูน
ถนนจากวัดสวนขันไปยังสถานีรถไฟคลองจันดี
ถนนจากตำบลละอายไปนาแว
ถนนระหว่างหมู่บ้านในตำบลละอาย
สะพานข้ามคลองคุดด้วนเข้าวัดสวนขัน
สะพานข้ามแม่น้ำตาปีจากตลาดทานพอไปนาแว
สะพานข้ามคลองเสหลา หน้าวัดมะปรางงาม
สะพานข้ามคลองจันดี เป็นต้น

มรณภาพ : เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ตรงกับแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอ พ่อท่านคล้ายจะต้องเดินทางไปจังหวัดสุรินทร์ เนื่องในงานพุทธาภิเษกที่คณะพุทธบริษัท จังหวัดนั้นนิมนต์ใว้ ประมาณเวลา ๑๖.00 น. ของวันเดินทาง คณะศิษย์เห็นว่าท่านอาพาธด้วยโรคหืดอย่างกระทันหัน จึงนิมนต์พ่อท่านขึ้นรถด่วนเข้ากรุงเทพ ถึงวันรุ่งขึ้นได้นำท่านเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎในวันนั้น ทางคณะแพทย์ได้พยายามรักษาท่านจนเต็มความสามารถ ท่านได้รักษาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาถึง ๑๔ วัน อาการมีแต่ทรงกับทรุด ครั้นถึงวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เวลา ๒๓.๐๕ น. พ่อท่านคล้าย ได้มรณะภาพลงด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ ๙๖ ปี เมื่อบำเพ็ญกุศลศพครบ ๑๐๐ วัน ทางคณะศิษยานุศิษย์จึงได้บรรจุสรีระของท่านไว้ในโลงแก้ว โดยประดิษฐานอยู่ในองค์พระเจดีย์ในวัดพระธาตุน้อยจนถึงปัจจุบันนี้

ด้านความมีเมตตาและวาจาสิทธิ์ : ศิษย์ยานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือศรัทธาพ่อท่านคล้ายได้เชื่อถือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวาจาพูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น พ่อท่านคล้ายจะพูดจากับทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและแจ่มใสอารมณ์เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา ท่านมักจะให้พรกับทุกคน “ขอให้เป็นสุข เป็นสุข” ผู้ที่เคารพนับถือท่านต่างพากันกลัวคำตำหนิ เพราะผู้ที่ถูกตำหนิทุกรายล้วนแต่พบความวิบัติ คนส่วนมากจึงหวังที่จะได้รับคำอวยพร เพราะคำเหล่านั้นเป็นการพยากรณ์ที่แม่นยำทั้งในทางดีและทางเสื่อมเสีย คนที่ไปนมัสการหวังที่จะได้วัตถุมงคล บ้างขอน้ำมนต์ ชานหมาก แหวน ผ้ายันต์ เหรียญ รูปหล่อ รูปพิมพ์ ซึ่งพ่อท่านคล้ายก็ได้มีเมตตาให้กับทุกคน ยิ่งชานหมากของท่านหากใครได้รับจากมือท่านเป็นของที่มีค่ามาก